Intimex ศูนย์ เครื่องช่วยฟัง หูหนวก หูตึง
การช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่ใส่เครื่องช่วยฟังเป็นครั้งแรก ให้ได้รับประโยชน์จาก เครื่องช่วยฟัง อย่างที่ควรจะได้รับนั้น ศูนย์บริการเครื่องช่วยฟังอินทิเม็กซ์ ขอแนะนำ 10 เทคนิค สำหรับผู้ที่เริ่มต้น ใส่เครื่องช่วยฟัง นำไปปฎิบัติ ดังนี้
ผู้มีประสบการณ์หลายคนเปรียบเทียบว่าการเริ่มใส่เครื่องช่วยฟังไม่เหมือนกับการเริ่มใส่แว่นสายตา ซึ่งค่อนข้างจะเป็นเรื่องจริง การใส่แว่นสายตาคุณจะรู้สึกได้เลยว่าภาพที่คุณมองเห็นนั้นคมชัดมากขึ้นเมื่อคุณหยิบแว่นสายตาคู่ใหม่มาใส่ แต่ในกรณีของเครื่องช่วยฟัง คุณอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัว อย่าคาดหวังให้สมองของคุณช่วยคุณให้ได้ยินชัดเจน แยกแยะเสียงได้ดีเหมือนเคยอย่างทันทีทันใด ยิ่งไปกว่านั้นการใส่เครื่องช่วยฟังอาจทำให้คุณรู้สึกไม่ค่อยสบาย หรือรำคาญบริเวณใบหูของคุณ ให้เวลาตัวคุณคุ้นเคยกับการใส่เครื่องช่วยฟังในช่วง 2-3 วันแรก หรือสัปดาห์แรก ก่อนที่คุณจะรู้สึกสบายขึ้น
เมื่อ ใส่เครื่องช่วยฟัง วันแรก ให้คุณนั่งในบริเวณที่เงียบของบ้านเป็นอันดับแรกก่อน ในสภาพแวดล้อมที่เงียบนี้คุณจะมีโอกาสเริ่มทำความคุ้นเคยกับเสียงใหม่ๆ คุณอาจพบว่าเสียงบางเสียงดังเกินไปในครั้งแรก เช่น เสียงเครื่องปรับอากาศทำงาน เสียงนาฬิกาเดิน เสียงเตือนของเครื่องไมโครเวฟ หรือเสียงกดชักโครก นั่นเป็นเพราะว่าคุณไม่ได้ยินมานานมากแล้ว หรืออาจไม่เคยได้ยินมาก่อน การได้ยินเสียงเหล่านี้ดัง ถือว่าปกติ เนื่องจากสมองของคุณกำลังกลับมาเรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับเสียงต่างๆ เหล่านี้
การฝึกให้สมองของคุณเกิดทักษะในการฟังกลับมา จำเป็นต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝน เมื่อคุณใส่เครื่องช่วยฟังครั้งแรก ให้เริ่มใส่วันละ 2 ถึง 3 ชั่วโมงก่อน และถอดออกเมื่อคุณรู้สึกเหนื่อย หรือถูกรบกวนจากเสียงมากเกินไป แต่ว่าควรพยายามยืดชั่วโมงในการใส่ให้ได้นานขึ้น และให้ใส่ทุกวัน เมื่อคุณสามารถใส่ได้นานขึ้น คุณจะสามารถแยกแยะเสียงต่างๆ แปลความหมายของเสียงพูด และโฟกัสกับสิ่งที่คุณได้ยินมากขึ้นตามไปด้วย
ก่อนที่คุณจะใส่เครื่องช่วยฟัง คุณอาจได้ยินคู่สนทนาบอกคุณว่าคุณพูดดังเกินไป การพูดเสียงดังถือว่าเป็นเรื่องปกติเมื่อคุณมีปัญหาการได้ยิน แต่เมื่อคุณใส่เครื่องช่วยฟังแล้ว คุณสามารถควบคุมระดับความดังของเสียงพูดของคุณได้ดีขึ้น เทคนิคที่จะช่วยให้คุณควบคุมระดับความดังของเสียงพูดของคุณได้ดีขึ้นนั้น คือการอ่านหนังสือหรือนิตยสารออกเสียงขณะที่คุณใส่เครื่องช่วยฟัง การที่คุณได้ยินเสียงอ่านหนังสือของคุณเอง นอกจากจะช่วยให้คุณควบคุมระดับความดังของเสียงของคุณได้แล้ว ยังจะช่วยให้คุณพัฒนาทักษะการฟังเสียงพูด สร้างความคุ้นเคยเมื่อคุณได้สนทนากับคนอื่นอีกด้วย
ทุกครั้งที่คุณชมภาพยนตร์จากโทรทัศน์ที่มีคำบรรยายใต้ภาพ ให้คุณอ่าน (ไม่ออกเสียง) คำบรรยายใต้ภาพตามไปด้วยขณะที่คุณฟังภาพยนตร์ เทคนิคนี้จะช่วยให้สมองของคุณกลับมาคุ้นเคยกับเสียงพูด และเสียงต่างๆ เสียงพูด ที่คุณได้ยินจากภาพยนตร์ การฝึกฝนเช่นนี้จะช่วยให้คุณปรับตัวเข้ากับเครื่องช่วยฟังได้รวดเร็วขึ้น
สมาชิกในครอบครัวและคนที่คุณรักมีส่วนช่วยคุณอย่างมากในกระบวนการปรับตัวเมื่อคุณเริ่มใส่เครื่องช่วยฟัง คุณจะรู้สึกสบายใจเมื่อได้คุยกับคนที่คุ้นเคย เสียงที่คุณคุ้นเคย เทคนิคนี้จะช่วยให้สมองของคุณกลับมาเรียนรู้การเชื่อมโยงระหว่างเสียงพูด กับภาษากาย เช่น การใช้สายตา การเคลื่อนไหวของมือ รอยยิ้ม โทนเสียง และท่วงท่า คุณจะสามารถใช้ประสบการณ์เหล่านี้ ในการสนทนากับคนอื่นๆ ที่คุณพบได้ต่อไป
จดบันทึกสถานการณ์และเสียงที่ทำให้คุณรู้สึกรำคาญ สถานการณ์ที่คุณยังคงฟังการสนทนาไม่ชัดเจน และนำมาเล่าให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องช่วยฟังในวันนัดติดตามผลการ ใช้เครื่องช่วยฟัง ของคุณ เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับเสียงเครื่องช่วยฟังให้กับคุณ
เสียงพูดที่ได้ยินผ่านโทรศัพท์ แม้แต่โทรศัพท์ที่ดีที่สุด ก็แตกต่างจากเสียงพูดปกติ เสียงที่คุณได้ยินจากเครื่องช่วยฟังก็เช่นเดียวกัน แน่นอนว่าเสียงที่คุณได้ยินผ่านเครื่องช่วยฟัง เป็นเสียงที่แตกต่างไปจากเสียงที่คุณเคยได้ยินมาก่อนที่คุณจะมีความบกพร่องทางการได้ยิน อย่างน้อยเทคโนโลยีก็ยังสามารถช่วยทำให้คุณสามารถได้ยินเสียงต่างๆ ถึงแม้จะไม่เหมือนเดิมก็ตาม
เทคโนโลยีของเครื่องช่วยฟังพัฒนาไปมากในปัจจุบัน เครื่องช่วยฟังคุณภาพสูงมีชิปคอมพิวเตอร์ที่ชาญฉลาดทำหน้าที่ปรับระดับการขยายเสียง หรือลดเสียงให้คุณตามสภาพแวดล้อมอย่างอัตโนมัติ เมื่อใส่เครื่องช่วยฟังครั้งแรก คุณมีแนวโน้มที่จะปรับระดับเสียงลดลงเมื่อคุณอยู่ในสถานการณ์อึกทึก หรือปรับลดเสียงลงเมื่อคุณกำลังเดินเข้าห้องสมุด หรือคุณอาจจะอยากทดลองเร่งความดังเพื่อฟังเสียงที่อยู่ไกลๆ ซึ่งแม้แต่คนที่มีการได้ยินปกติก็ไม่สามารถได้ยิน การปรับเสียงขึ้นลงบ่อยๆ เช่นนี้ อาจทำให้ระบบอัตโนมัติของเครื่องรวนได้
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลสำเร็จของการใส่เครื่องช่วยฟังที่คุณควรตระหนัก และไม่ควรเปรียบเทียบตัวคุณกับผู้อื่น นั้น มีอยู่หลายปัจจัย เช่น การเลือกเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมกับระดับความบกพร่องของการได้ยิน เทคโนโลยีของเครื่องช่วยฟัง คุณภาพของเครื่องช่วยฟัง การฝึกฝนการฟังขณะใส่เครื่องช่วยฟัง ไลฟสไตล์ สภาพแวดล้อม การใช้ชีวิตประจำวัน ระยะเวลาที่เริ่มสูญเสียการได้ยินจนถึงเวลาที่ใส่เครื่องช่วยฟัง อายุที่เริ่มสูญเสียการได้ยิน สาเหตุที่ทำให้สูญเสียการได้ยิน โรคประจำตัว รูปแบบการสูญเสียการได้ยิน การยืดหยุ่นของการทำงานของสมอง เป็นต้น
การปรับเสียงให้กับเครื่องช่วยฟังของคุณเป็นกระบวนการระยะยาวและต่อเนื่อง การเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องช่วยฟังที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ ที่คุณมั่นใจว่าจะสนับสนุน ช่วยเหลือ เข้าใจและร่วมกันแก้ปัญหาที่คุณพบ เคียงข้างคุณในแต่ละขั้นตอนของการปรับตัว พร้อมปรับเสียงเครื่องช่วยฟังของคุณเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ท้าทายเมื่อคุณมีประสบการณ์การฟังที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้คุณได้รับประโยชน์จากการใส่เครื่องช่วยฟัง และมีความสุขกับการได้ยินมากเท่าที่คุณต้องการ